ประวัติสมาคม

on . Posted in About TSA

โดย ศ.ดร. บัณฑิต กันตะบุตร

การก่อตั้งสมาคมสถิติแห่งประเทศไทยอยู่ในความดำริของนักสถิติ และปัญญาชนผู้สนใจในสถิติเป็นเวลาช้านาน

ตั้งแต่เมื่อเริ่มทำสำมะโนประชากร พ.ศ. 2503 ซึ่งจัดได้ว่าเป็นโครงการสถิติ ที่ใหญ่ที่สุดโครงการแรกของประเทศไทย ประกอบด้วยในระยะนั้นกำลังอยู่ในระหว่าง ยุคทองของการสถิติของประเทศไทย โครงการต่างๆที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสถิติจะได้ รับการพิจารณาด้วยดี และมักจะได้รับการสนับสนุนจากทุกๆฝ่าย จึงมีการปรารภใน ระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสถิติอยู่เนืองๆ ว่า เพื่อการส่งเสริมสถิติให้ได้ ผลดีที่สุด น่าจะมีการรวมตัวระหว่างพวกที่เกี่ยวข้องในรูปแบบสมาคม เพื่อความ สะดวกและรวดเร็วในการติดต่อ แต่ความคิดดังกล่าวก็คงเป็นแต่เพียงคำปรารภกัน โดยมิได้มีการดำเนินงานแต่อย่างใด จนกระทั่งในกาลต่อมา ได้มีผู้ที่สำเร็จการ ศึกษาวิชาสถิติเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากแผนกสถิติ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย การใช้ สถิติได้แพร่หลายยิ่งขึ้นในประเทศไทย บัณฑิตสถิติกลุ่มหนึ่งจึงนัดพบกันที่ บ้านเลขที่ 182 ถนนสุขุมวิท ซอย 49 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515 เพื่อ เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการตั้งสมาคมสถิติเป็นครั้งแรก โดยมีจุดประสงค์ให้ เป็นศูนย์กลางของนักสถิติทั่วประเทศ ไม่จำกัดว่ามาจากสถานที่ศึกษาใด เพื่อส่ง เสริมวิชาการสถิติ และแขนงวิชาที่เกี่ยวข้องให้มีการใช้สถิติในหลักการต่างๆ ให้แพร่หลาย ในการประชุมวันนั้นได้มีมติให้จัดตั้งสมาคมขึ้น และแต่งตั้งคณะกรรมการ ชั่วคราวขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ดร. นิยม ปุราคำ เป็นประธานพร้อมด้วยกรรมการอีก 3 ท่าน คือ นายประศาสน์ ศิริมไหสวรรย์ รองประธาน นายนิคม จินนิกร เลขาธิการ และนายสหัส ตรีทิพยเนตร ผู้ช่วยเลขานุการ โดยได้รับมอบหมายให้ดำเนินการก่อตั้ง สมาคมขึ้น คณะกรรมการชุดนี้ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นอีกชุดหนึ่ง และมอบ หมายให้ดำเนินการร่างระเบียบข้อบังคับของสมาคม ซึ่งได้แก่ นางนงนุช โรจนเวทย์ ประธาน และกรรมการอื่นอีก 3 ท่านเช่นกัน คือ นายสมคิด พนมยงค์ น.ส. ศิริพร อมรศิริวัฒนกุล และ น.ส. อาภรณ์ เชาว์ดี

ต่อมาได้มีการประชุมครั้งที่สองเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2515 ณ ห้องประชุมแผนกสถิติ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณาแก้ไขร่างระเบียบข้อบังคับ ในการประชุม ครั้งนี้ได้มีผู้ร่วมประชุมจากสถาบันต่างๆ หลายแห่งรวมทั้งสิ้นได้ 57 ท่าน และ ได้มีมติให้ดำเนินการขออนุญาตตั้งสมาคมต่อรัฐบาล โดยให้ใช้แผนสถิติของ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยเป็นสำนักงาน ได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ตั้งเป็นสมาคม ได้เมื่อ วันที่ 21 สิงหาคม 2516 จึงได้มีการประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง ณ ห้อง ประชุมแผนกสถิติจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยในวันที่ 27 กันยายน 2516 เพื่อเลือกตั้ง คณะกรรมการบริหาร 2516 – 2518 ตามระเบียบข้อบังคับของสมาคม ซึ่งผมได้รับเกียรติ ให้ดำรงตำแหน่งนายก ศาสตราจารย์ ดร.สง่า สรรพศรี อุปนายกคนที่ 1 ศาสตราจารย์ น.พ. ไขยยันต์ กัมปนาทแสนยากร อุปนายกคนที่ 2 ดร.นิยม ปุราคำ เลขาธิการ และ รศ.สมศรี ลีลานุข เหรัญญิก ในเวลาต่อมาได้มีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่านมาร่วมเป็น กรรมการสมาคมได้กราบทูลเชิญพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ มาทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ เนื่องจากพระองค์ท่านได้ทรงสนับสนุน วิชาการสถิติ ต่อเนื่องกันมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ในระหว่างที่ทรงดำรงตำแหน่งประธาน ของคณะกรรมการสถิติแห่งชาติ สมาคมยังได้เรียนเชิญศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ปลัดทบวงวิทยาลัย มาเป็นที่ปรึกษาอีกด้วย นอกเหนือจากนี้ยังมีชาวต่างประเทศ 3 ท่านที่ได้ช่วยเหลือส่งเสริมวิชาสถิติของประเทศไทย อย่างมากมายหลายประการ คือ Professor Philip M. Hauser, Dr. Gertrude Cox และ Mr.Graham Lucas ซึ่งเราจะลืมเสียมิได้

สิบปีได้ผ่านไปซึ่งในช่วงระยะนี้ คณะกรรมการบริหารก็ได้เปลี่ยนไปทุกๆ สองปีตามระเบียบข้อบังคับของสมาคม ผู้ที่รับตำแหน่งนายกต่อจากผม ก็มี ศจ.ดร. สง่า สรรพศรี ดร.นิยม ปุราคำ และ รศ. ดร. ประชุม สุวัตถี ตามลำดับ แต่ละสมัย การบริหารงานของสมาคมก็ได้มีความพยายามที่จะสนับสนุนนโยบายหลักของสมาคม คือ การเพิ่มพูนความรู้แขนงวิชาสถิติให้แก่สมาชิกทั้งหลายมากที่สุด เช่น การอบรม วิชาสถิติ การออกวารสารเป็นครั้งคราว ภายใต้บรรณาธิการและคณะ คือ ดร.นิยม ปุราคำ สมัยแรก และดร.อเนก หิรัญรักษ์ สมัยปัจจุบัน แจกทุนการศึกษาแก่บรรดานิสิต นักศึกษาวิชาสถิติ ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เรียนดี แต่ขาด แคลนทุนทรัพย์จำนวนหนึ่ง สนับสนุนโดยมูลนิธิเอเซีย และแหล่งอื่นๆ มีกิจกรรม ที่ขึ้นหน้าขึ้นตาและมีประโยชน์แก่ส่วนรวมของสมาคม ก็คือ การจัดให้มีสัมมนา แบบ Symposium ทุกสองปี ภายใต้หัวข้อที่เกี่ยวข้องกับ การสถิติโดยตรง โดยมีความประสงค์ที่จะเผยแพร่วิชาการด้านสถิติให้แก่บรรดานักสถิติ และผู้สนใจ ทั่วไป การจัดสัมมนาดังกล่าวนี้ สมาคมเห็นว่าเป็นประโยชน์ในด้านการจัดงานสถิติ และการวางแผนสถิติของส่วนราชการ องค์การ และรัฐวิสาหกิจเป็นอันมาก จึงได้ ขออนุมัติต่อรัฐบาลให้ข้าราชการและพนักงานองค์การรัฐวิสาหกิจ ผู้มีความรับผิด ชอบในด้านงานสถิติเข้าร่วมประชุม โดยไม่ถือว่าเป็นวันลา ซึ่งก็ได้รับอนุมัติจาก คณะรัฐมนตรี ปรากฏว่าได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งทุกครั้งที่จัด มีผู้เข้าร่วม ประชุมแต่ละครั้งหลายร้อยคน เมื่อเสร็จจากการประชุมแล้ว สมาคมก็ได้สรุปผล เสนอต่อรัฐบาลเพื่อรับทราบ สมาคมได้จัด Symposium ในลักษณะนี้ทั้งหมด 4 ครั้ง

  1. สถานการณ์ทางสถิติของประเทศไทย วันที่ 25 ก.ย. 2517 โรงแรมเอราวัณ
  2. การใช้ประโยชน์สถิติในประเทศไทย วันที่ 7-8 ก.พ. 2520 โรงแรมดุสิตธานี
  3. สถิติกับการพัฒนาชนบท วันที่ 15-16 ม.ค. 2523 ห้องประชุมแผนสถิติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  4. สถิติกับการพัฒนาประเทศ วันที่ 21-22 ม.ค. 2526 ห้องมรกตโรงแรมอินทรา

สมาคมได้เผยแพร่จดหมายข่าวเป็นครั้งคราวเพื่อให้สมาชิกได้ทราบข่าวของ สมาคมทุกๆ ระยะ นอกเหนือจากกิจกรรมประจำที่ได้กล่าวแล้ว สมาคมยังได้จัดให้มี กิจกรรมจรที่เกี่ยวข้องกับสถิติ และเป็นประโยชน์ แก่ส่วนรวมเป็นครั้งคราว เช่น จัดให้มีการออกโทรทัศน์ช่อง 9 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2518 เรื่อง วิจารณ์ สถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยมีผู้ร่วมอภิปราย คือ ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ อาจารย์ ดร.อัมมาร์ สยามวาลา คุณปรีชา ผลประเสริฐ และผศ.ดร. วีรพงษ์ รามางกูร เป็นต้น

ท่านสมาชิกที่รักในฐานะที่ผมโชคดีได้รับเกียรติให้ได้รับตำแหน่งนายก ก่อตั้งของสมาคม ผมมีความยินดีเป็นอย่างมากที่สมาคมของเราได้เจริญเติบโต เป็นปึกแผ่นดังที่เห็นทุกวันนี้ ทั้งนี้เพราะความเสียสละของพวกท่านกรรมการ และสมาชิก ซึ่งทำทุกอย่างเพื่อความเจริญ ของสมาคมเรา โดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อย ยากดังจะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้วิชาสถิติได้เป็นที่รู้จักทั่วไป และมีความสำคัญแก่ กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐบาลและเอกชน แทบทุกมหาวิทยาลัยมีภาควิชาสถิติ เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณวุฒิทัดเเทียมกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ แม้แต่ใน ระดับมัธยมศึกษาก็เริ่มจะเรียนสถิติกันบ้างแล้ว โดยทั่วไปยอมรับแล้วว่า มีการตัดสินใจที่ไหน ย่อมต้องการสถิติที่นั่น ทั้งนี้นับว่าเรามีส่วนช่วยมาก ในความสำเร็จซึ่งเป็นสิ่งที่น่าจะภูมิใจ เราได้ปูรากฐานไว้เป็นอย่างดีแล้ว ในระหว่างสิบปีที่ผ่านมา ขอให้พยายามต่อไปเพื่ออาชีพและประเทศชาติ อันเป็นที่รัก